การประเมินพื้นที่เหมาะสมเป็นกระบวนการตัดสินใจที่ซับซ้อนที่ต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ การศึกษาที่ผ่านมานิยมใช้กระบวนการวิเคราะห์แบบลำดับชั้น (Analytic Hierarchy Process: AHP) ในการประเมินพื้นที่เหมาะสม แบบจำลองการตัดสินใจที่ใช้ AHP นั้นมีข้อจำกัดเนื่องจากในบางครั้งการตัดสินใจไม่จำเป็นต้องมีรูปแบบโครงสร้างลำดับชั้นเสมอไป โดยองค์ประกอบการตัดสินใจในลำดับชั้นนั้นๆ อาจมีความเกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กับองค์ประกอบในลำดับชั้นที่สูงกว่าหรือต่ำได้ รวมถึงไม่สามารถคำนึงถึงผลกระทบแบบย้อนกลับได้ กระบวนการวิเคราะห์เชิงโครงข่าย (Analytic Network Process: ANP) สามารถจัดการความสัมพันธ์ระหว่างเกณฑ์การตัดสินใจ และผลกระทบที่มีต่อกันและระหว่างเกณฑ์การตัดสินใจกับทางเลือก ซึงเทคนิค ANP สามารถลดข้อผิดพลาดของ AHP

ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเลือกพื้นที่เหมาะสมสำหรับการปลูกปาล์มน้ำมัน ในการศึกษาครั้งนี้ ประกอบด้วย ปัจจัยสภาพภูมิอากาศ สภาพภูมิประเทศ ลักษณะทางกายภาพและเคมีของดิน ภัยพิบัติ และเศรษฐกิจ-สังคม สำหรับเทคนิคที่ใช้ในการศึกษาคือ ANP ในการประเมินลำดับความสำคัญของปัจจัยที่ใช้ในการประเมินพื้นที่เหมาะสมและนำระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ มาใช้ในการจำแนกและการประเมินความเหมาะสมของที่ดิน การวิเคราะห์ใช้เทคนิคการซ้อนทับ (Overlay technique) ข้อมูลเชิงพื้นที่และการวิเคราะห์ข้อมูลคุณลักษณะ ด้วยวิธีการทางสถิติ เพื่อกำหนดพื้นที่ซึ่งเหมาะสมในการปลูกปาล์มน้ำมัน โดยข้อมูลพื้นที่เหมาะสมสามารถใช้ในการวางแผนสำหรับการเลือกพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันในอนาคตได้

หลักการในการหาพื้นที่เหมาะสมปลูกปาล์มน้ำมัน

ปัจจัยและเกณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับการปลูกปาล์มน้ำมัน โดยนำปัจจัยที่ได้ไปจัดกลุ่ม ปัจจัยที่มีลักษณะคล้ายกันจัดให้อยู่ในกลุ่มเดียวกัน ซึ่งเรียกว่า กลุ่มปัจจัยหลัก (Clusters) ซึ่งมี 6 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ปัจจัยสมบัติทางกายภาพของดิน ปัจจัยสมบัติทางเคมีของดิน ปัจจัยสภาพภูมิประเทศ ปัจจัยภัยพิบัติ ปัจจัยสภาพภูมิอากาศ และปัจจัยทางเศรษฐกิจ – สังคม

การดำเนินงาน

การประยุกต์ใช้เทคนิคกระบวนการโครงข่ายเชิงวิเคราะห์

กระบวนการวิเคราะห์แบบโครงข่าย (Analytic Network Process: ANP) ในการจัดลำดับปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจต่อการประเมินพื้นที่เหมาะสมสำหรับการปลูกปาล์มน้ำมัน ซึ่งการวิเคราะห์แบบโครงข่ายมีลักษณะสร้างเป็นโครงข่าย (Network) เป็นวิธีการที่แก้ปัญหาด้านการตัดสินใจที่มีหลายปัจจัย และสามารถจัดการกับความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยการตัดสินใจต่างๆ และผลกระทบที่มีต่อกันและกันระหว่างปัจจัยการตัดสินใจกับทางเลือกโดยใช้ระดับสเกลจากสเกลอัตราส่วน และผ่านการประมวลผลของ Super matrix ด้วยการให้ค่าน้ำหนักความสำคัญของปัจจัยการประเมินโดยการเปรียบเทียบแต่ละคู่ (Pairwise Comparisons) โดยได้จัดกลุ่มปัจจัยหลักไว้ 5 กลุ่มหลัก ในแต่ละกลุ่ม จะมีปัจจัยรอง โดยผู้วิจัยได้จัดให้ปัจจัยมีความสัมพันธ์กัน และทำการวิเคราะห์ตามหลักการกระบวนการโครงข่ายเชิงวิเคราะห์ จนได้ลำดับของแต่ละปัจจัย

การให้ค่าน้ำหนักความสำคัญของปัจจัย

การให้คะแนนความสำคัญของปัจจัยแบบ กระบวนการโครงข่ายเชิงวิเคราะห์ (Analytic Network Process: ANP) การให้ค่าน้ำหนักความสำคัญของปัจจัยการประเมินโดยการเปรียบเทียบแต่ละคู่ (Pairwise Comparisons) โดยมีการเปรียบเทียบดังต่อไปนี้

  • เปรียบเทียบแต่ละกลุ่มปัจจัยหลักที่มีความสัมพันธ์กัน
  • เปรียบเทียบแต่ละปัจจัยรองที่มีความสัมพันธ์กันภายในกลุ่มปัจจัยหลักเดียวกัน
  • เปรียบเทียบแต่ละกลุ่มปัจจัยรองที่มีความสัมพันธ์กันระหว่างกลุ่มปัจจัยหลัก

การให้ค่าน้ำหนักความสำคัญของเกณฑ์การประเมินโดยการเปรียบเทียบแต่ละคู่ (Pairwise Comparisons) โดยใช้ตารางเมทริกซ์ และใช้ตัวเลข 1 ถึง 9 เพื่อบอกระดับค่าของความสำคัญ

ระดับความสำคัญ ความหมาย
1 สำคัญเท่ากัน
3 สำคัญกว่าปานกลาง
5 สำคัญกว่ามาก
7 สำคัญกว่าค่อนข้างมาก
9 สำคัญสูงกว่าสูงสุด
2,4,6,8 สำคัญกว่าเพื่อลดช่องว่างระหว่างค่า 1,3,5,7,9

การเก็บรวบรวมข้อมูล

แบบสอบถามความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยเพื่อใช้ในกระบวนการวิเคราะห์ ANP โดยได้ความอนุเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 20 ท่าน ประกอบด้วย นักวิชาการเกี่ยวกับปาล์มน้ำมัน 10 ท่าน เกษตรกรปาล์มน้ำมัน 5 ท่าน และผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิสารสนเทศ 5 ท่าน จากนั้นนำผลของการลำดับความสัมพันธ์โดยผู้เชี่ยวชาญไปประมวลผลโดยใช้โปรแกรม Super Decisions 2.10

การวิเคราะห์ข้อมูลระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์

การวิเคราะห์พื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีและกระบี่ ได้นำปัจจัยต่างๆ ทั้ง 34 ปัจจัย มาทำการวิเคราะห์ด้วยเทคนิคการซ้อนทับ เพื่อประเมินพื้นที่เหมาะสมสำหรับการปลูกปาล์มน้ำมัน และได้จำแนกระดับความเหมาะสมออกเป็น 5 ระดับ และนำเสนอข้อมูลในรูปแบบแผนที่แสดงระดับความเหมาะสมของพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน

ระดับความเหมาะสมออกเป็น 5 ระดับ แบ่งออกเป็น

  • เหมาะสมมากที่สุด มีค่าคะแนน 5 คะแนน
  • เหมาะสมมาก มีค่าคะแนน 4 คะแนน
  • เหมาะสมปานกลาง มีค่าคะแนน 3 คะแนน
  • เหมาะสม น้อย มีค่าคะแนน 2 คะแนน
  • ไม่เหมาะสม มีค่าคะแนน 1 คะแนน

กราฟและตารางสรุปขนาดพื้นที่