การศึกษาการใช้ที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานีและจังหวัดกระบี่ สามารถทำให้เข้าใจถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันได้ โดยในปัจจุบันเทคโนโลยีการรับรู้ระยะไกล (Remote Sensing) สามารถช่วยให้การสำรวจพื้นที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าการสำรวจภาคสนามซึ่งเป็นวิธีดั้งเดิม โดยสามารถสำรวจได้ครอบคลุมพื้นที่บริเวณกว้าง มีข้อมูลย้อนหลัง ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการทำงานเมื่อเทียบกับการสำรวจภาคสนาม
โครงการวิจัยนี้จึงได้ทำการสำรวจการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินและสิ่งปกคลุมดินของพื้นที่ โดยใช้ข้อมูลภายถ่ายจากดาวเทียมในการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน และประเมินแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินและสิ่งปกคลุมดินของจังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดกระบี่ จากการตรวจสอบความถูกต้องของผลลัพธ์ มีความแม่นยำเฉลี่ย 85.2 %
ข้อมูลและเครื่องมือที่ใช้
- ภาพถ่ายจากดาวเทียม LANDSAT 8
- ข้อมูลขอบเขตการปกครองระดับจังหวัด จังหวัดสุราษฎร์ธานีและจังหวัดกระบี่
- ข้อมูลการใช้ที่ดินออนไลน์ของกรมพัฒนาที่ดิน
- โปรแกรม ArcGIS 10.7.1
- โปรแกรม eCognition
- โปรแกรม QGIS Desktop
ขั้นตอนการศึกษา
ในการศึกษาการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินและสิ่งปกคลุมดิน มีขั้นตอนการศึกษาที่สำคัญดังต่อไปนี้
- การเก็บรวมรวบข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียม Landsat ถูกดาวน์โหลดผ่าน Google cloud storage
- การลบเมฆออกจากภาพดาวเทียม (cloud masking) โดยใช้เครื่องมือ Cloud Masking ในโปรแกรม Q-GIS 3.16
- การปรับแก้เชิงรังสีของข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียม เนื่องจากปริมาณเมฆปกคลุมหนาแน่นจะทำให้ได้ค่าการสะท้อนที่ไม่ได้มาจากพื้นผิวโลกโดยตรงจึงต้องทำการแก้ปัญหา
- ภาพถ่ายจากดาวเทียมที่ทำการดาวน์โหลดมาจะถูกแยกออกเป็นแต่ละแบนด์ จึงทำการรวมทุกแบนด์ของภาพถ่ายจากดาวเทียม
- การจำแนกประเภทข้อมูลโดยใช้ภาพถ่ายจากดาวเทียมสามารถทำได้โดยง่ายผ่านโปรแกรม สำหรับประมวลผลข้อมูลจากดาวเทียม ในงานวิจัยนี้ได้ใช้โปรแกรม eCognition ด้วยวิธีการจำแนกเชิงวัตถุ (Object-based Image Analysis: OBIA) ซึ่งจะต้องทำการแบ่งแยกวัตถุในภาพและกำหนดกลุ่มตัวอย่างเองลงบนภาพถ่ายจากดาวเทียมเพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลตัวอย่าง (training data) จากนั้นทำการจำแนกข้อมูลวัตถุ สำหรับคอมพิวเตอร์ในการทำนายประเภทของการใช้ที่ดินและสิ่งปกคลุมดิน
- การตรวจสอบความถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ทราบถึงความแม่นยำและความถูกต้องการจำแนกข้อมูลก่อนที่จะนำข้อมูลไปวิเคราะห์
- แผนที่การใช้ที่ดินและสิ่งปกคลุมดิน
กราฟแสดงขนาดพื้นที่และการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน ปี 2556-2563
ตารางแสดงพื้นที่การใช้ประโยชน์ที่ดินและสิ่งปกคลุมดิน ปี 2556-2563 (หน่วย : ตารางกิโลเมตร) |
||||||||
2556 | 2557 | 2558 | 2559 | 2560 | 2561 | 2562 | 2563 | |
พื้นที่เปิดโล่ง | 2,461 | 3,063 | 1,749 | 2,579 | 1,968 | 2,367 | 2,464 | 2,824 |
พื้นที่ป่าไม้ | 5,296 | 5,017 | 5,017 | 5,017 | 5,017 | 5,017 | 5,089 | 5,089 |
พื้นที่เกษตรกรรมอื่นๆ | 704 | 381 | 398 | 485 | 339 | 191 | 289 | 192 |
พื้นที่ปาล์มน้ำมัน | 3,860 | 3,904 | 4,472 | 4,440 | 4,510 | 4,855 | 5,684 | 5,425 |
พื้นที่ยางพารา | 5,020 | 4,988 | 5,576 | 4,788 | 5,264 | 4,450 | 3,660 | 3,752 |
พื้นที่เมือง | 176 | 189 | 191 | 198 | 200 | 202 | 203 | 204 |
พื้นที่แหล่งน้ำ | 570 | 543 | 682 | 578 | 788 | 1,003 | 697 | 599 |
รวม (ตร.กม.) | 18,086 | 18,086 | 18,086 | 18,086 | 18,086 | 18,086 | 18,086 | 18,086 |